บางคนอาจคิดว่าเรื่อง “หุ้น” หรือ “กองทุน” เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนมีเงินล้านเขาคุยกัน แต่แท้จริงแล้วการลงทุนเป็นเรื่องของทุกคน สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เงินหลักพันบาท และทางแอปพลิเคชัน FundRadars จะสรุปข้อมูลกองทุนทั้งหลายให้เป็นเรื่องง่าย สำหรับทุกคน
![FundRadars (1)]()
ทำไมต้องกองทุน
โดยปกติหากเราต้องการให้เงินทำงาน เราก็จะนิยมเอาเงินไปฝากธนาคาร ข้อดีก็คือความเสี่ยงต่ำแต่ข้อเสียก็คือผลตอบแทนจะน้อยตามลงมา แต่หากเอาไปลงทุนทางตรงก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ที่มากหน่อย ในการติดตามผลประกอบการ, งบการเงิน, และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
แต่สำหรับกองทุนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี (อ่าว …) แต่เป็นการประหยัดเวลาของผู้ลงทุน โดยเราจะมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (ผู้จัดการกองทุน) ซึ่งมีความรู้ความชำนาญมากกว่า รวมถึงมีการตรวจสอบที่รัดกุม ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นคนรักษาผลประโยชน์แทนเรานั่นเอง
![FundRadars (2)]()
ประเมินความเสี่ยง
ในตลาดแบ่งกองทุนออกเป็นหลากหลายประเภท ตั้งแต่กองทุนตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) ซึ่งเป็นการที่กองทุนเอาเงินไปฝากธนาคารบ้าง, ซื้อพันธบัตรบ้าง, ตลอดจนหุ้นกู้ของเอกชนที่น่าเชื่อถือ โดยจะมีความเสี่ยงต่ำมาก และได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคารเล็กน้อย และสำหรับคนที่ยังไม่รู้สไตล์การลงทุนของตัวเอง ว่าเป็นคนยอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน ลองทำ แบบประเมินความเสี่ยง ดูก่อนได้ครับ
ระดับความเสี่ยง (Risk Spectrums) จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 ระดับ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะขึ้นอยู่กับอายุ และสถานภาพทางการเงินของผู้ลงทุนเองด้วย ทีนี้พอเข้าใจแล้วว่าความเสี่ยงของกองทุนเป็นอย่างไร จากนั้นก็เลือกจับคู่กับกองทุนที่มีความเสี่ยงตรงกับตัวเรา หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอน “หาข้อมูล” เพื่อลงทุนกันได้เลย
![FundRadars (3)]()
FundRadars ช่วยค้นหากองทุนที่ใช่!
ตอนนี้แอปพลิเคชันมีให้ดาวน์โหลด (ฟรี) ทั้งบน Android และ iOS ซึ่งจัดทำโดยทีมงาน StockRadars ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง (เพียงแต่อันนี้เป็นเรื่องของกองทุนเพียงอย่างเดียว) จุดเด่นของ FundRadars ก็คือการใช้ “เรดาร์” ในการค้นหากองทุนตามที่เราต้องการ มีข้อมูลและเปรียบเทียบผลตอบแทน ในแต่ละช่วงเวลาให้พร้อมทั้งสถิติสำคัญ ด้วยเวลาเพียง 3 นาที !
![FundRadars (4)]()
เริ่มใช้งาน FundRadars หน้าตาจะเป็นอะไรที่เรียบง่ายมาก ง่ายถึงขนาดไม่จำเป็นต้องมีคู่มือแนะนำการใช้งาน โดยหน้าแรกบนสุดจะมีบทความแนะนำนิดหน่อย ถัดมาจะสามารถเรียงดูรายละเอียดได้ตั้งแต่
- 1 วัน
- 1 เดือน
- 3 เดือน
- 6 เดือน
- ตั้งแต่ต้นปี
- 1 ปี
- 3 ปี
- 5 ปี
เพื่อที่ว่าเราจะได้ดูแนวโน้มของราคากองทุน และผลประกอบการย้อนหลังว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งบางกองทุนอาจมีราคาขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะปัจจัยบางอย่าง แต่ถ้ามองภาพรวมแล้วราคากำลังลงก็เป็นได้
![FundRadars (5)]()
นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกดูเป็นรายตัว เพื่อดูราคาย้อนหลังในรูปแบบ “กราฟ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่นักลงทุนควรเข้าใจก็คือ ผลประกอบการณ์ในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงอนาคต (อยู่ดี) ยกตัวอย่าง KT-INDIA หากดูย้อนหลังไปปีที่แล้วราคาปรับขึ้น 78.98% แต่หากมองภาพรวม 5 ปี ราคาปรับมาเพียง 0.27% เป็นต้น
![FundRadars (6)]()
สำหรับใครที่มีชื่อกองทุนในใจอยู่แล้ว ก็สามารถค้นหาได้เลย … แต่สำหรับมือใหม่กองทุน (ซึ่งส่วนมากจะเป็นมนุษย์เงินเดือน) เราจะมาแนะนำสองอันที่ใกล้ตัวกันก่อนได้แก่ “RMF” และ “LTF” เพราะได้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีนั่นเองครับ
![FundRadars (8)]()
1. RMF
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) คือ กองทุนระยะยาวมากถึงมากที่สุด วัตถุประสงค์สำหรับใช้ออมเงินระยะยาว เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายยามเกษียณคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นั่นเองครับ
ข้อดี คือ เงินที่ซื้อสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง โดยสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น รวมถึงกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย
ข้อเสีย คือ ต้องลงทุนทุกปีเป็นเงิน 3% ของรายได้หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า) และต้องไม่ระงับการซื้อขายเกิน 1 ปีติดต่อกัน (เว้นแต่ปีนั้นไม่มีเงินได้) และขายคืนได้ตอนอายุ 55 ปี และต้องถือหน่วยลงทุนนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี
การลงทุนผ่าน RMF ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากสำหรับมนุษย์เงินเดือน ในการเก็บเงินเอาไว้ใช้งานหลังเกษียณ แถมยังใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย (ยิ่งฐานภาษีสูงยิ่งคุ้มค่า) เพียงแต่ต้องอดทนออมอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเองครับ ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีแผนจะนำเงินนั้นมาใช้ก่อนเกษียณ
![FundRadars (7)]()
2. LTF
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น และผู้ลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ
ข้อดี คือ เงินที่ซื้อสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง โดยสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น รวมถึงกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย แถมไม่จำเป็นต้องถือจนเกษียณเหมือน RMF
ข้อเสีย คือ ต้องซื้อและถือหน่วยลงทุนของ LTF ไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน หากขายก่อนจำเป็นต้องคืนเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษี พร้อมทั้งดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน รวมถึงต้องจ่ายภาษีเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน 3% รวมถึงเงินที่ได้ก็ต้องเอาไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีสิ้นปีอีกด้วย
การลงทุนผ่าน LTF ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่ต่างจาก RMF แถมยังขายได้ภายในระยะเวลาหลัง 7 ปีปฏิทิน ไม่ต้องรออายุ 55 ปี (เนื่องจากวัตถุประสงค์ต่างกัน) ถ้าเลือกกองทุนดี ๆ หน่อยผลตอบแทนก็สูงใช่ย่อยครับ
![FundRadars (9)]()
ทีนี้แต่ละกองทุนก็จะมีมูลค่าขั้นต่ำในการสั่งซื้อ (ครั้งแรก/ครั้งถัดไป) รวมถึงค่าธรรมเนียมในการจัดการไม่เท่ากัน หากต้องมานั่งหยิบหนังสือชี้ชวนแต่ละบริษัทฯ ก็ดูจะเสียเวลาใช่ย่อย และตรงนี้เองเราสามารถดูได้ผ่าน FundRadars เพราะแต่ละกองทุนก็ยังมีค่าธรรมเนียมการขายกับการรับซื้อคืน ที่แตกต่างกันไป
![FundRadars (10)]()
แค่ชื่อกองทุนและนโยบายการลงทุนอาจบอกได้ไม่หมด เราสามารถเลื่อนลงมาดูได้ว่ากองทุนไหนเอาเงินเราไปทำอะไรบ้าง หรือถือหุ้นบริษัทฯ ไหนอยู่ที่สัดส่วนเท่าไหร่ มาเป็นกราฟแบบโดนัทดูง่ายมาก
รีวิว FundRadars แอปพลิเคชัน (อีกครั้ง)
![FundRadars App (1)]()
หน้าแรกจะเป็นหน้ารวม แบ่งกองทุนออกเป็นหลายหมวดหมู่ โดยมีตัวเลือกเป็นช่วงเวลาที่ต้องการให้เรียง (ย้อนหลังกี่เดือนกี่ปีก็ว่าไป) แต่หากไม่ทันใจก็ค้นหาชื่อกองทุนได้จากด้านขวาบน นอกจากนี้ก็มีบทความเกี่ยวกับกองทุนให้อ่าน เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการลงทุน
![FundRadars App (2)]()
สามารถเลือกกองทุนรายตัวเพื่อดูอย่างละเอียดได้ มีการบอกถึงค่าธรรมเนียมการจัดการ, นโยบายการจ่ายเงินปันผล, ปันผลล่าสุด (ถ้ามี) รวมถึงค่าความผันผวน (S.D.) และผลตอบแทน (Return)
![FundRadars App (3)]()
รายละเอียดกองทุนดูค่อนข้างง่าย มีการบอกความเสี่ยง (Risk Level) แต่ถ้ายังไม่ละเอียดพอก็สามารถกดเพื่อโหลดหนังสือชี้ชวนในแบบสรุปได้ นอกจากนี้ยังดูสัดส่วนการลงทุนได้ว่ากองทุนเอาไปลงทุนที่ไหนบ้าง และในตอนนี้ถือทรัพย์สินหรือหุ้นบริษัทไหนอยู่ (เวลามีข่าวจะได้รู้ว่ากระทบกับกองทุนเรามากน้อยแค่ไหน)
![FundRadars App (3.2)]()
แต่หากดูแค่ชื่อทรัพย์สินหรือหุ้นยังละเอียดไม่พอ เราสามารถแตะเพื่อไปดูข้อมูลของหุ้นรายตัวนั้นได้เลย เพื่อวิเคราะห์ราคาหุ้นที่กองทุนถืออยู่ ว่าจะกระทบกับมูลค่าของกองทุนมากน้อยแค่ไหน สมมุติว่ากองทุนถือ PTT เราสามารถแตะที่ชื่อ “PTT” เพื่อลิงค์ออกมายังแอปพลิเคชันที่ละเอียดมากกว่าอย่าง StockRadars โดยจะแบ่งสามหมวดใหญ่ด้วยกัน
- Realtime : ดูข้อมูลปริมาณซื้อขาย รวมถึงราคาและแนวโน้มรอบสั้น-ยาว
- Insight : บอกถึงพื้นหลังธุรกิจของบริษัทฯ จำนวนผู้ถือหุ้น, การซื้อ-ขายของผู้บริหาร, สถิติและราคาที่น่าสนใจ
- Timeline : การพูดถึงหุ้นตัวนั้นในอินเตอร์เน็ต เช่น Twitter, Pantip ว่ามีข่าวหรืออะไรที่น่าสนใจบ้าง
หรือสรุปก็คือหากต้องดูข้อมูลเบื้องต้นสามารถดูได้ที่ FundRadars โดยเน้นความเรียบง่ายต่อการเข้าใจ แต่หากต้องการเจาะลึกข้อมูลรายตัว สามารถแตะเพื่อเข้าไปดูต่อได้ที่ StockRadars (คนละแอปพลิเคชัน แต่ทำงานต่อเนื่องกัน) เพื่อข้อมูลและกราฟที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น
![FundRadars App (3.3)]()
ในส่วนของสายกราฟก็สามารถดูวิเคราะห์แนวโน้ม เพื่อหาแนวรับและแนวต้านสำหรับสาย Technical หรือหาจุดรับ-จุดขายที่เหมาะสม หลังจากดูงบการเงินประกอบไปเบื้องต้น
![FundRadars App (4)]()
ความพิเศษของ FundRadars (อันนี้ชอบเป็นการส่วนตัว) คือสามารถแบ่งประเภทกองทุนเป็นหมวดหมู่ ตามวัตถุประสงค์ของผู้ลงทุนได้ตั้งแต่
- กองทุนที่มีผลตอบแทนมากที่สุด
- กองทุนที่มีอัตราการปันผล
- กองทุนที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยมีความผันผวนของผลตอบแทนน้อย
- กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- กองทุนทองคำ
- กองทุนรวมผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี (ETF)
- กองทุนรวมดัชนี (Index Fund)
- กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 1.3%
- กองทุนเปิดใหม่
- กองทุนที่มีมูลค่าซื้อขั้นต่ำครั้งแรกน้อยกว่าพันบาท
สุดท้ายนี้ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า “การลงทุน” เป็นการออมเงินอย่างหนึ่ง (ผลตอบแทนก็แลกด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามา) อย่างแย่หากเราเกิดพลาดขาดทุนขึ้นมา ยังไงก็มีเงินเหลือให้ใช้อยู่บ้าง ต่างจากการใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่วางแผนเก็บเงินใด ๆ เลย … ซึ่งอย่างหลังเป็นอะไรที่น่ากลัวยิ่งกว่า
เครื่องมือพร้อมขนาดนี้ ที่เหลือก็อยู่ที่ตัวเราแล้วว่า จะมีวินัยในการลงทุน และควบคุมความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
*การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน FundRadars และ StockRadars ได้ฟรีที่ App Store พร้อมติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก facebook.com/StockRadars
The post FundRadars แอปพลิเคชันเปลี่ยนเรื่อง กองทุน ให้เป็นเรื่องง่าย appeared first on iPhoneMod.